เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [13. เตรสมวรรค] รวมกถาที่มีในวรรค
สก. ดังนั้น ท่านจึงไม่ควรยอมรับว่า “ธัมมตัณหาไม่เป็นทุกขสมุทัย”
[685] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “ธัมมตัณหาไม่เป็นทุกขสมุทัย” ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. ตัณหานั้นเป็นธัมมตัณหามิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. หากตัณหานั้นเป็นธัมมตัณหา ท่านก็ควรยอมรับว่า “ธัมมตัณหา
ไม่เป็นทุกขสมุทัย”
ธัมมตัณหานทุกขสมุทโยติกถา จบ
เตรสมวรรค จบ

รวมกถาที่มีในวรรคนี้ คือ

1. กัปปัฏฐกถา 2. กุสลปฏิลาภกถา
3. อนันตราปยุตตกถา 4. นิยตัสสนิยามกถา
5. นิวุตกถา 6. สัมมุขีภูตกถา
7. สมาปันโนอัสสาเทติกถา 8. อสาตราคกถา
9. ธัมมตัณหาอัพยากตาติกถา 10. ธัมมตัณหานทุกขสมุทโยติกถา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :732 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [14. จุททสมวรรค] 1. กุสลากุสลปฏิสันทหนกถา (136)
14. จุททสมวรรค
1. กุสลากุสลปฏิสันทหนกถา (136)
ว่าด้วยความสืบต่อแห่งกุศลและอกุศล
[686] สก. กุศลมูลสืบต่ออกุศลมูลได้ใช่ไหม
ปร.1 ใช่2
สก. ความนึกถึง ฯลฯ ความตั้งใจ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอกุศลนั้นก็เพื่อ
ความเกิดขึ้นแห่งกุศลใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. กุศลมูลสืบต่ออกุศลมูลได้ แต่ท่านไม่ยอมรับว่า “ความนึกถึง ฯลฯ
ความตั้งใจ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอกุศลนั้นก็เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศล” ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. กุศลเกิดขึ้นแก่ผู้ไม่นึกถึงอยู่ ฯลฯ ไม่ตั้งใจอยู่ใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. กุศลเกิดขึ้นแก่ผู้นึกถึงอยู่ ฯลฯ ตั้งใจอยู่มิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. หากกุศลเกิดขึ้นแก่ผู้นึกถึงอยู่ ฯลฯ ตั้งใจอยู่ ท่านก็ไม่ควรยอมรับว่า
“กุศลมูลสืบต่ออกุศลมูลได้”

เชิงอรรถ :
1 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายมหาสังฆิกะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 686-690/273)
2 เพราะมีความเห็นว่า กุศลและอกุศลสามารถเกิดขึ้นต่อเนื่องกันได้ ซึ่งต่างกับความเห็นของสกวาทีที่เห็นว่า
กุศลและอกุศลไม่สามารถเกิดขึ้นต่อเนื่องกันได้ จะต้องมีสภาวธรรมอื่นหรือกาลเวลามาคั่น จึงจะเกิดขึ้นได้
(อภิ.ปญฺจ.อ. 686-690/273)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :733 }